ชื่อบ้านนามเมือง01: "หริภุญไชย" หรือ "หริภุญชัย" เขียนอย่างไร ใช้อย่างไร
- Pimnara Intaprasert
- 8 ก.ค. 2562
- ยาว 1 นาที
อัปเดตเมื่อ 10 ต.ค. 2562
วัดพระธาตุหริภุญชัยใช้ตัว “ชัย” ส่วนพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชยนั้นใช้ตัว “ไชย” นำมาซึ่งเมื่อสองหน่วยงานสำคัญของจังหวัดเขียนคำว่าหริภุญไชยต่างกัน แล้วผู้ใช้งานอย่างเราจะทำอย่างไร

เป็นที่ทราบกันดีว่าจังหวัดลำพูนเดิมมีชื่อว่า “หริภุญไชย” ซึ่งเป็นอาณาจักรเก่าแก่เริ่มมีการรวมตัวเป็นแหล่งชุมชนของมนุษย์ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ส่งผลให้เรื่องราวข้อเท็จจริงบางประการที่เกิดขึ้นในสมัยที่ยังไม่มีการบันทึกข้อมูลเป็นลายลักษณ์อักษร อาจตีความได้ในหลายแนวทางรวมถึงที่มาของชื่อ “หริภุญไชย” ด้วย
เราจะเห็นว่าปัจจุบันมีการสะกดคำดังกล่าวออกเป็นสองแบบคือ “หริภุญไชย” กับ “หริภุญชัย” โดย วัดพระธาตุหริภุญชัยใช้ตัว “ชัย” ส่วนพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติหริภุญไชยนั้นใช้ตัว “ไชย” นำมาซึ่งความสับสนในการใช้งาน คอลัมน์แรกของหมายเหตุหริภุญไชยขอนนำทุกท่านย้อนรอยหลักฐานการถอดรหัสอันนำมาสู่บทสรุปของชื่อบ้านนามเมือง “หริภุญไชย” หรือเมืองลำพูนของเรา


หลักฐานการเขียนชื่อ “หริภุญไชย” นั้นปรากฏทั้งในศิลาจารึกสมัยหริภุญไชย ศิลาจารึกสมัย
ล้านนา และคัมภีร์ทางศาสนาบนใบลาน สำหรับจากศิลาจารึกสมัยหริภุญไชยเป็นหลักฐานชั้นต้นเกี่ยวกับ ชื่ออาณาจักรหริภุญไชยที่เก่าแก่ที่สุด มีอายุอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 16-17 คำว่า “หริภุญไชย” นั้นปรากฏในศิลาจารึกภาษามอญโบราณจำนวน 5 หลัก แต่ละหลักเขียนแตกต่างกันออกไป กล่าวคือ
จารึกอาณาจักรปุนไชย พบที่วัดจามเทวีปรากฏชื่ออาณาจักรเขียนว่า ตชุตรลราส์ปุนเชญํน(คร)
จารึกตะจุ๊มหาเถร พบที่วัดแสนข้าวห่อ ปัจจุบันคือที่ตั้งของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติหริภุญไชย เขียนชื่ออาณาจักรว่า ปุญเชชฺย
จารึกวัดดอนแก้ว ปรากฏคำว่า ภุญเชยฺย
จารึกวัดบ้านหลวย ปรากฏคำว่า ภุญเชยฺย
จารึกจากเวียงเถาะ ถอดความภาษาไทยแล้วปรากฏคำว่า ภุญเชยฺย เช่นเดียวกัน
ชื่ออาณาจักรหริภุญไชยที่ปรากฏในศิลาจารึกทั้ง 5 หลักจารึกคำว่า “ภุญ” และ “ปุญ” ควบคู่กันไปกันไปมีทั้งเขียน “ปุญ” ด้วยตัว “ญ” และ “น” เขียนคำว่า “ไชย” ด้วยตัว “ญ” และ “ยฺยฺ” ซึ่งในภาษามอญโบราณจะไม่ใช้ตัวสระ “ไอย” แต่ใช้ตัว “เอยฺย” แทนทำให้คำๆหนึ่งสามารถสะกดได้หลายรูปแบบ

ส่วนตัวอักษร “ภ” “ป” นั้นในแวดวงวาการด้านอักขระจารึกวิทยาอักษรมอญโบราณยังไม่มีข้อสรุปว่าตัวอักษรทั้งสองมีความหมายหรือการใช้ต่างกันอย่างไร แต่มีข้อสังเกตว่าภาษาพูดของคนไทยล้านนาในปัจจุบันมีการออกเสียงปะปนกันระหว่าง “พ” และ “ป” เช่น “ลำพูน” “หละปูน” เป็นไปได้ว่าการออกเสียงสลับของตัวอักษรสองตัวนี้มีมาตั้งแต่สมัยอาณาจักรหริภุญไชยและตกทอดสู่กันมาและจากการวิเคราะห์อักษรมอญโบราณทุกหลักในภาคเหนือ ของอาจารย์พงศ์เกษม สนธิไทย มีความเห็นว่าจารึกจากวัดดอนแก้ว ที่ปรากฏคำว่า “ภุญเชยฺย” น่าจะเก่าแก่ที่สุด
ตามข้อสันนิษฐานนี้ย่อมสรุปได้ว่า “ภุญเชยฺย” เป็นคำที่มาก่อน “ปุญเชยฺย” หรือ “ปุนเชญ”
ต่อมาในสมัยอาณาจักรล้านนาได้พบศิลาจารึกที่กล่าวถึงอาณาจักรหริภุญไชยหลายหลัก แต่ในยุคแรกๆไม่พบคำว่า “ภุญ” พบแต่ตัว “ปุญ” และ “บุญ” ปะปนกัน เช่นจารึกวัดพระยืนพบคำว่า “หริบุญไชย” จารึกหริปุญชปุรี เขียนว่า “หริบุญชบุรี” มีข้อสังเกตว่าพบคำว่า “หริ” เพิ่มเติมเข้ามาในสมัยนี้
สำหรับหลักฐานอีกแหล่งหนึ่งคือคัมภีร์ทางศาสนาบนใบลานไม่ว่าจะเป็น จามเทวีวํส คัมภีร์
ที่รจนาโดย พระโพธิรังสี พระเถระชาวเชียงใหม่ ตำนานมูลศาสนา ชินกามาลีปกรณ์ ตำนานพระธาตุ
หริปุญไชย พงศาวดารโยนก เมื่อถอดความภาษาไทยแล้วจะพบว่ามีการใช้คำปะปนกัน
ทั้ง “หริภุญไชย” “หริปุญไชย” “หริภุญชัย” “หริปุญชัย”
จากข้อมูลอาจกล่าวได้ว่าคนสมัยก่อนมิได้ให้ความสำคัญกับการเขียนชื่อบ้านนามเมืองให้ถูกต้องเป็นบรรทัดฐานหนึ่งเดียว แต่สะกดตามความเข้าใจของผู้จารแต่ละคน ซึ่งเชื่อว่าผู้คนในอดีตไม่ประสบปัญหาด้านการสื่อสารต่างกับปัจจุบันที่การเขียนอักขระที่แตกต่างก่อให้เกิดปัญหาทั้งการถอดหา ความนัย ความหมายของคำนั้นๆ นักวิชาการด้านภาษาศาสตร์ นิรุกติศาสตร์ จึงระดมความเห็นและเห็นพ้องตรงกันว่า ถ้าหากต้องเลือกใช้ระหว่าง “ไชย” – “ชัย” การใช้ตัว “ไชย” ย่อมเหมาะสมที่สุดเพราะ
หากพิจารณาจากหลักฐานด้านวิวัฒนาการของรากศัพท์ที่เก่าแก่ที่สุดในศิลาจารึกมอญโบราณทั้ง 5 หลัก ระบุชัดเจนว่า
“ภุญเชยฺย” และ “ปุญเชยฺย” เมื่อนำมารวมกับ “หริ” + “ภุญเชยฺย” (ภุญช + เอยฺย) หรือ “หริ” + “ปุญเชยฺย” (ปุญช + เอยฺย) ก็จะได้คำว่า หริภุญไชย / หริปุญไชย มิใช่ หริภุญชัย/หริปุญชัย ทั้งนี้เพราะในภาษามอญ เอยฺย คือตัว “ไอย” นั่นเอง
แล้วเหตุใดวัดพระธาตุหริภุญชัยจึงยังใช้ตัว "ชัย"
เมื่อได้ข้อสรุปแล้วว่าเราจะกล่าวถึงอาณาจักรหริภุญไชยโดยใช้ตัว “ไชย” จึงมีคำถามต่อไปว่าเหตุใดวัดพระธาตุหริภุญชัย วรมหาวิหาร จึงใช้ตัว “ชัย” การเขียนเช่นนี้ได้รับอิทธิพลมาจากการให้ความหมายของคำว่า “หริภุญไชย/หริภุญชัย” ซึ่งจะกล่าวต่อในตอนต่อไป ส่วนการเลือกใช้คำว่า “ชัย” ของวัดพระธาตุหริภุญชัยนั้นเกิดจากความเชื่อกระแสหลักที่ว่า “หริภุญชัย” หมายถึงที่ฉันผลสมอของพระพุทธเจ้า
นอกจากนี้พระครูสิริสุตาภิมณฑ์ แห่งวัดห้วยห้าง อำเภอทุ่งหัวช้าง ปราชญ์ล้านนาอธิบายว่า การที่วัดพระธาตุหริภุญชัยใช้ตัวสะกด “ชัย” นั้นเพราะทางวัดยึดเอาคำว่า “หริภุญชัย” จากหนังสือตำนานพระธาตุหริภุญชัย และหนังสือบาลีสาสนวงศ์ โดยเห็นว่า “หริภุญชัย” เป็นคำภาษาบาลี ขณะที่ “ไชย” เป็นสันสกฤต ทางวัดจึงได้ลงความเห็นว่าจะสะกดชื่อวัดด้วยตัว “ชัย” ทั้งนี้ยอมรับว่าหากกล่าวถึง “หริภุญไชย” ในบริบทอื่น เช่น ศิลปะ อาณาจักร ประวัติศาสตร์ก็จะใช้ตัว“ไชย”
การสะกดที่แตกต่างนั้นอาจไม่ก่อให้เกิดปัญหาในอดีต ทว่าในปัจจุบันเมื่อตัวอักษรเข้ามามีบทบาทสำคัญในการสื่อสารจึงจำเป็นต้องกำหนดบรรทัดฐานให้แก่ชื่อบ้านนามเมืองลำพูน แต่นั่นมิได้หมายความว่าคำหรือการสะกดตามหลักฐานอื่นผิดหรือใช้มิได้ ในทางตรงกันข้ามกลับมีคุณค่าต่อองค์ความรู้ประวัติศาสตร์ ภาษาศาสตร์ ความหลากหลายในการตีความยิ่งทำให้เราทราบว่า
คำๆหนึ่งอาจปริวรรตปรับเปลี่ยนใหม่ได้ เมื่อต้องนำมาปรับใช้เรื่องราวทางการเมือง การปกครอง ศาสนา โดยใช้ชื่อบ้านนามเมืองนั้นเป็นเครื่องสะท้อนสัญลักษณ์
ข้อมูลอ้างอิง ปริวรรตภาษา ชือบ้านนามเมือง สืบค้นความหมาย ถ่ายอักขระคำว่า "หริภุญไชย"
และ "ลำพูน" เรียบเรียงโดย ดร.เพ็ญสุภา สุขคตะ ใจอินทร์
コメント